วิธีการดูแลยาง เพื่อป้องกันยางบูดก่อนวัยอันควร
วิธีการดูแลยาง เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนมองข้าม และยางก็เป็นส่วนที่ติดกับถนน หากยางมีปัญหาหรือไม่ได้คุณภาพก็อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ บทความนี้จึงรวบรวม วิธีการดูแลยาง เนื่องจาก ณ เวลาปัจจุบัน มียางมอเตอร์ไซค์มากมายหลายยี่ห้อ และทุกยี่ห้อก็จะบอกว่ารับประกันฯ 1ปี – 5ปี หรือใจ ๆ หน่อย ก็รับประกันฯ ตลอดอายุการใช้งาน
แต่ การรับประกันฯ ภาษาพูด และ ภาษาเขียน ความหมายไม่เหมือนกัน ยี่ห้อส่วนมาก จะ ใส่ “ฯ” ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เช่น การรับประกันความบกพร่องทางการผลิต ครั้นจะพูด หรือพิมพ์เต็มประโยคทุกครั้งมันก็จะเปลืองคำไปซะหน่อยก็เลยทำการย่อเหลือ รับประกันฯ สั้น ๆ แค่นี้
ทีนี้ พอเกิดอะไรผิดปกติขึ้นกับยาง…ใจก็สั่งมาว่า ต้องเล่นหน่อยแล้ว ไหนบอกว่ารับประกันไง เดี๋ยวเจอกรู ถ้าไม่เคลมจะฟ้องนู้นนี้ หึหึ
ความเป็นจริงแล้วเขารับประกันเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการผลิต ซึ่งก็ต้องพิสูจน์-ตรวจสอบว่า มันเกิดจาการผลิตจริง แต่ก็อย่างว่า มันต้องตรวจสอบ
สายจอด…อ่านไว้ เรารวบรวม วิธีการดูแลยาง ไว้ให้แล้ว
จอดถูกที่ ถูกวิธี ยางก็จะเสื่อมช้าลง…เน้นว่า เสื่อมช้าลง เป็นไปไม่ได้ที่ยางที่ใส่แล้ว ขึ้นขอบ ใส่ลมแล้ว จะไม่เสื่อม แต่มีขั้นตอนลดความเสื่อม ตามนี้
1.ซื้อมาใช้…ก็ใช้ซะ
ไม่ได้ด่า และ ไม่ได้อ่านผิด ยางมอเตอร์ไซค์ ถ้าซื้อมาใส่แล้ว ก็ควร ขี่…ขี่…แล้วก็ขี่ จนยางหมดค่อยซื้อคู่ใหม่
เพราะอายุการใช้งานของยางมอเตอร์ไซค์ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 2,000-20,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับประเภทของยางโดยปัจจัยหลักในการกำหนดอายุของยางคือ ผู้ขี่ ผิวถนนที่ใช้ และสภาพโดยรวมของยาง เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับปียาง หรือว่าใช้มาสั้น-ยาวแค่ไหน ขี่หมด ก็คือหมด แต่ถ้าไม่ขี่ ก็เก่าตามเวลา
และอายุการใช้งานของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน สาเหตุก็มาจากนิสัยการใช้งาน หลายคนอาจต้องเคยสงสัยกันบ้างแหละว่าทำไมเพื่อนใช้ยางรุ่นเดียวกันแต่ยางหมดช้ากว่าเรา หรือสามารถลากยาวได้เกิน 20,000 กิโลเมตร
2.หมั่นเติมลมยาง
ยางมอเตอร์ไซค์ต้องขยันเติมลมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใช่แล้ว…อย่างน้อย ยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไหร่ โดยที่ไม่ได้เติมลมยางก็ยิ่งพังเร็วเท่านั้น แต่บางคนขยันเติมบ่อย แต่ก็พัง เพราะอะไร? ถ้าตอบแบบง่าย ๆ คือ วัดลมผิดจังหวะ ถ้าไม่นับว่าเกจ์วัดไม่ตรงนะ
และที่สำคัญมาก ๆ หลายคนไม่ทราบ ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์บางร้านก็ไม่ทราบ นั่นคือการวัดลมยางหรือเติมลมยาง ควรทำขณะที่ยางเย็น
ทำไมหน่ะหรอ เพราะเวลาที่ยางร้อน อากาศในยางจะขยายตัว ทำให้แรงดันลมยางที่วัดได้สูงกว่าปกติ ยิ่งล้อหลังรถสกูตเตอร์ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเครื่องร้อนจัด อาจจะมี +6 psi พอไปวัดที่ปั้ม อ้าว ลมปกติหนิ ไม่ต้องเติม เผลอ ๆ ปล่อยลมออก แต่ความจริง คือแรงดันขยายจ้า แล้วจะทราบได้ยังไงต้องเติมเท่าไหร่ มันก็มีวิธีง่ายๆ ดูตามคู่มือ…พอ
3.จอดขึ้นสแตนด์หน้า – หลัง ให้ล้อทั้ง 2 ลอยจากพื้น
เพราะส่วนมากที่เห็น ๆ กัน จะขึ้นแค่สแตนด์หลัง ข้างหน้ายางติดพื้น การทำในลักษณะนั้นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะน้ำหนักเกือบทั้งหมด จะลงไปที่ยางหน้า แล้วถ้าจอดทิ้งไว้เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ยางจะเกิด Flat Spot หรือจุดกดทับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ยางระเบิด เพราะโครงสร้างมันหักหมดแล้ว หากนำไปใช้งานที่ความเร็วสูง ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายได้
และที่สำคัญอย่าลืมว่า ตอนจอด ลมก็ค่อย ๆ ซึม ยิ่งจอดนาน ยางยิ่งพัง
4.เก็บรถให้พ้นแสง UV และ ความร้อนจากแดด
เพราะแสงแดด ไม่ได้มีแค่ความร้อน แต่สิ่งที่ทำให้เนื้อยาง แห้ง แข็ง เงา คือรังสี UV และมันคือตัวการหลักที่ทำให้เนื้อยางตาย แตกลายงา วิธีเลี่ยงที่เป็นไปได้ คือ หาผ้าคลุมรถเกรดดี ๆ ที่กัน UV ได้ คลุมเวลาที่ต้องจอดตากแดดนาน ๆ หรือจอดนอกตัวอาคาร ต่อให้มีร่มเงา UV ก็สะท้อนเข้าได้ หรือถ้าเป็นไปได้ก็จอดในพื้นที่ ที่ไม่โดนแดด เช่น ชั้นจอดรถใต้ดิน
5.เลี่ยงการจอดใต้แอร์ หรือ ใกล้คอมแอร์
ก๊าซโอโซน (O3 – Ozone) อีก 1 ศัตรูของยาง จอดในบ้าน ดูแลอย่างดี ขึ้นสแตนด์ตลอด อากาศไม่ร้อน เพราะ เปิดแอร์…ตกม้าตายกันก็ตรงนี้แหละ ลองสังเกตุง่าย ๆ รถโชว์ที่จอดอยู่ในโชว์รูมนาน ๆ ยางสะอาด แต่ แห้ง ลื่น เผลอ ๆ แตกลายงา ทั้ง ๆ ที่ ไม่เคยขี่เลย (ไม่เชื่อ ลองไปส่องดู) ซึ่ง O3 นี่แหละ จะเป็นตัวทำปฎิกิริยาทางเคมี กับสารต่าง ๆ ที่อยู่ในยาง และทำให้ยางสิ้นชีพทั้ง ๆ ที่ดูแลดีมาก นอนแอร์ตลอด
6.น้ำยาเคลือบเงายาง
อย่าหาทำเด็ดขาด จริงอยู่ที่ทำให้ยางของเราเหมือนใหม่ แต่มันก็ไม่เกิดประโยชน์อื่นใดอีก นอกจากทำให้ยางลื่น แล้ว น้ำยาเคลือบเงายางจะสร้างปฏิกิริยาทางเคมี คล้าย O3 จากข้อที่แล้ว ทาแล้วยางเงาสวยจริง แต่มีโอกาสสูงที่จะเกิดรอยแตกลายงา ทาทิ้งไว้นาน ๆ สุดท้ายยางก็จะเงาแว้บ ลื่นถาวร พร้อมกลิ้งทันทีที่พับโค้ง ซ้ำร้ายกว่านั้นถ้าน้ำยาระเด็นไปโดนจานเบรก หรือ ผ้าเบรก ก็บรรลัยทีม เบรกไม่อยู่อีก
7.Heat Cycle
ใครที่ได้อ่านบทความที่แล้ว เรื่อง ดราม่ายางมือสอง บทความนี้ขอย้ำอีกครั้งในแง่ของยางกึ่งสนาม ที่รอบการใช้งาน จะสั้น เพราะเกิดมาเพื่อหวดให้ยางหมด ไม่ใช่หวดแล้วจอด แต่ถ้าเป็นฝั่งของยางถนน หรือ โร้ดสปอร์ต แม้แต่ ทัวร์ริ่ง ฮีทไซเคิล ของยางจะสูงกว่ามาก ขี่-จอด ได้บ่อย เหมาะกับใช้งานในชีวิตประจำวันมากกว่า เพราะฉะนั้นต้องเลือกยางให้ถูกตั้งแต่แรก เพราะยางทุกเส้น มีระยะการใช้งานของมันเอง
สรุปสั้น ๆ ถ้าอยากให้ยางอยู่กับเรานาน ๆ จอดหลบแดด หลบแอร์ คลุมผ้า ขึ้นสแตนด์ หน้า-หลัง และหาเวลาไปใช้มันบ้างนะ จอดจนยางเปื่อย ก็ไม่เอา เสียดายเงินเด้อ
รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก