ฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง ปีที่ 25 อีก 1 เวทีพิสูจน์ความสามารถคนไทย
และก็สิ้นสุดกันไปแล้วกับ ฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง หรือ การแข่งขัน Honda Eco Mileage Challenge ปีที่ 25 การแข่งขันที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศร่วมประชันไอเดียยานยนต์ประหยัดเชื้อเพลิง เพื่อโลกแห่งอนาคต! กับโจทย์สุดท้าท้ายน้ำมัน 1 ลิตรไปได้ไกลแค่ไหน
ล่าสุดบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เดินหน้าจุดพลังฝันเยาวชนไทย จัดการแข่งขัน “ฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง” Honda Eco Mileage Challenge ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566 เปิดสังเวียนแข่งระดับโลกให้เด็กอาชีวศีกษาและอุดมศึกษา ร่วมโชว์ฝีมือออกแบบและประดิษฐ์ยานยนต์ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากที่สุดเพื่อโลกอนาคต ภายใต้โจทย์ “ท้าทายพลังความคิด ประดิษฐ์นวัตกรรมรักษ์โลก ท้าพิสูจน์น้ำมัน 1 ลิตร จะวิ่งได้ไกลแค่ไหน” ในวันที่ 11-12 มกราคม 2566 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ โดยในครั้งนี้มีทีมเข้าร่วมมากถึง ทีมจากทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมพิเศษมากมาย นำทีมโดย “ก้อง” สมเกียรติ จันทรา นักแข่งไทยคนแรกที่คว้าแชมป์ Moto2 ที่จะมาเปิดมุมมองชีวิตที่ต้องอดทนฝึกซ้อมอย่างหนักกว่าจะเป็นยอดนักบิดระดับโลกเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน
พร้อมร่วมกิจกรรมทดลองขับขี่รถไฟฟ้า Honda BENLY e: นวัตกรรมใหม่แห่งยุคควบคู่ไปกับการสอดแทรกความรู้เรื่องการลดใช้พลังงาน
ยังมีการโชว์ทักษะขับขี่ Stunt โดย “บอล ดอนตูม” สุหทัย แช่มทรัพย์ นักแข่งฮอนด้า แชมป์ ARRC รุ่น 1000 เรซสุดท้าย ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมรักษ์โลก ด้วยการอวดโฉมกระเป๋าไวนิลสุดสวยที่รีไซเคิลจากป้ายแบนเนอร์ใช้แล้ว พร้อมและสาธิตวิธีทำโดย Kennely Green Products กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งเศรษฐี จ.ขอนแก่น ตลอดจนกิจกรรมเปลี่ยนขวดน้ำพลาสติกด้วยตู้รีไซเคิลอัตโนมัติ เพื่อสะสมคะแนนแลกรางวัลพิเศษอีกมากมาย
ส่วนเรื่องของการแข่งขันในปีนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย
- ประเภทรถประดิษฐ์ กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันออกแบบและประดิษฐ์รถขึ้นเอง และเครื่องยนต์เบนซิน 4 จังหวะของฮอนด้า 110i ที่มีระบบหัวฉีด PGM-Fi ที่ฮอนด้าให้การสนับสนุน โดยแบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับประชาชนทั่วไป
- ประเภทรถตลาด กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันใช้จักรยานยนต์ฮอนด้า 4 จังหวะ 4 รุ่น เท่านั้นคือWave110i, Dream110i, Super Cub110i และ Wave125i โดยปรับแต่งรถได้ตามกติกาที่กำหนด
กติกาเบื้องต้นคือ ผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีมจะประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คน ร่วมกันพัฒนาเทคนิคและกลยุทธ์ที่จะทำให้รถวิ่งได้ไกลที่สุด ในสนามแข่งตามจำนวนรอบที่กำหนด ด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใต้การตรวจสอบและดูแลจากคณะกรรมการการแข่งขัน ทีมที่วิ่งด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ (ใช้น้ำมัน E20 ในทุกประเภทการแข่งขัน)
สำหรับการแข่งขันรายการที่ว่านี้ เปรียบเสมือนเวทีอีกเวทีหนึ่งที่สามารถชี้วัดความรู้ความสามารถของเด็กไทย และคนไทย โดยใช้ความรู้ทางเทคนิค เครื่องยนต์กลไก หรือความรู้ทางวิศวกรรมด้านมาประยุกต์ใช้ ตลอดไปจนถึงจะต้องมีทักษะอื่น ๆ ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสาร ทีมเวิร์คหรือความสามัคคี ความอดทน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ตลอดไปจนถึงความซื่อสัตย์ ซึ่งหากจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็ยากที่จะคว้าชัยในการแข่งขันไปได้
ในการแข่งขันนั้นทุกคนต้องมีการสื่อสารที่ดีเพื่อถ่ายทอดหรือรับฟังปัญหาที่พบเจอ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขตัวรถและเครื่องยนต์ให้ลงตัวที่สุด ระหว่างนี้ก็อาจจะเจอกับปัญหาเฉพาะหน้าได้ ทั้งเรื่องเครื่องยนต์หรือตัวรถเสียหาย หรือสภาพอากาศไม่เป็นใจ อย่างการแข่งขันครั้งนี้มีฝนเทลงมา ซึ่งก็ต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือแก้ไขกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ
สิ่งสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องทีมเวิร์ค เพราะหากขาดทีมเวิร์คไปไม่มีทางที่จะออกมาดีได้แน่นอน เพราะแข่งขันกันเป็นทีม ต้องการความร่วมแรงร่วมใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเซ็ตรถ เตรียมรถ เตรียมการแข่งขัน นอกจากนี้ตัวคนที่ผู้ขับขี่เองก็ต้องอดทนมาก ๆ การต้องฝืนขับขี่ในท่าทางที่ไม่ปกติเป็นเวลานานท่ามกลางอากาศร้อนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่า การแข่งขันที่ทางฮอนด้าจัดให้ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงจะเฟ้นหาผู้ชนะเพียงอย่างเดียว ยังช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้แต่ละทีมมีทักษะด้านอื่น ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเครื่องยนต์กลไกหรือวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว
และสุดท้ายนี้ก็ขอแสดงความยินดีให้กับทางผู้ชนะการแข่งขัน ทุกทีมด้วยครับ โดยผู้ชนะแต่ละทีมมีดังนี้
ประเภทรถประดิษฐ์ ระดับอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมศรีวิชัย วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี สามารถทำค่าสถิติประหยัดน้ำมันได้สูงสุด 1,032.039 กม./ลิตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 30.240 กม./ชม. ส่วนตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมตาปี วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมวิทยาลัยการอาชีพ พุทธมณฑล
ประเภทรถประดิษฐ์ ระดับอุดมศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมเพชบุระ ก. จากวิทยาลัยเทคนิค เพชรบูรณ์ ด้วยค่าสถิติประหยัดน้ำมัน 802.836 กม./ลิตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 31.860 กม./ชม. รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ตะโกราย.2 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม NTC.M.TECH จากวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา
ประเภทรถประดิษฐ์ ระดับประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม nmvc จารุเจริญยนต์ จากร้านจารุเจริญยนต์ ด้วยค่าสถิติประหยัดน้ำมัน 648.248 กม./ลิตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 31.986 กม./ชม. รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมส้มหวาน จากประจวบฟาร์ม และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมส.เจริญยนต์ จากส.เจริญยนต์
ประเภทรถตลาด รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมนครบาลเพชรบูรณ์ จากวิทยาลัยสารพัดช่าง เพชรบูรณ์ ด้วยค่าสถิติประหยัดน้ำมัน 227.827 กม./ลิตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 30.231 กม./ชม. รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Trang Airport Econo Trang จากวิทยาลัยเทคนิคตรัง และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมเกจิ…ด่านฯ 2 จากวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
ประเภทรางวัลรถสวยงาม ได้แก่ ทีม THE FIRST จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม N-TECH CENTER 65 จากวิทยาลัยเทคโนโลยีเอ็นเทคอินเตอร์เนชันแนล และรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมวังขนาย 01 จากวิทยาลัยการอาชีพ กาญจนบุรี
นอกจากนี้ทีมศรีวิชัย วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และ ทีมตาปี วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่ได้รางวัลอันดับ 1 และอันดับ 2 ประเภทรถประดิษฐ์ ระดับอาชีวศึกษา จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการ The 42nd Honda Soichiro Cup Honda Eco Mileage Challenge 2023 ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วยครับ
ติดตามรายละเอียดและผลการแข่งขันโดยละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.hondaeconothai.com
ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ Superbike Magazine (Thailand’s Edition) Fan Page – Posts | Facebook
อ่านข่าวอื่นๆ คลิกที่นี่อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ Honda คลิก
รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก