Yamaha Y-AMT คืออะไร มาทำความรู้จักกัน
“เปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องกำคลัตช์” ระบบที่ทางผู้ผลิตรถจักรยานยนต์หลาย ๆ ค่ายต่างให้ความสนใจ และได้คิดค้น พัฒนาและเปิดตัวมา เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานมือใหม่ได้คุ้นเคยกับกลุ่มรถบิ๊กไบค์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่ผู้ผลิตเท่านั้น ทางสาวก 2 ล้อหรือแม้กระทั่งสื่อมอเตอร์ไซค์เองก็ต่างให้ความสนใจไม่แพ้กัน ว่าแต่ละค่ายจะงัดไม้เด็ดอะไรมาสู้ และเทคโนโลยีของแต่ละแบรนด์จะเจ๋งแค่ไหนกันเชียว
ในคราวนี้ เป็นคิวของฝั่งเจ้าตลาดอย่างค่ายส้อมเสียง ก็พร้อมที่บุกตลาดด้วยนวัตกรรมใหม่อย่าง Yamaha Automated Manual Transmission (Y-AMT) หรือระบบเปลี่ยนเกียร์แบบกึ่งอัตโนมัติ โดยมีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ อีกทั้งยังสะดวกสบายกว่าและใช้งานได้ง่ายกว่าอีกด้วย แล้วระบบนี้มันคืออะไร แล้วมันมีลูกเล่นอะไรที่น่าสนใจบ้าง
โดยเจ้าระบบ Y-AMT เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ขับขี่ และมีฟังก์ชันให้ผู้ขับขี่นั้นสามารถเปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องกำคลัตช์ แถมยังมีตัวเลือกให้สามารถเลือกใช้งาน ระหว่างระบบเกียร์แมนนวล MANUAL TRANSMISSION (MT) และระบบเกียร์ออโตเมติก AUTOMATIC TRANSMISSION (AT) ผ่านการควบคุมผ่านปุ่มคอนโทรลจากประกับแฮนด์ทั้งสองข้าง แต่สิ่งที่น่าตกใจนั่นก็คือทางค่ายได้ทำการเปลี่ยนเจ้าระบบเกียร์แมนนวล จากเดิมตำแหน่งคันเกียร์ที่อยู่ตรงพักเท้าฝั่งซ้าย ย้ายขึ้นมาอยู่บนแฮนด์นั่นเอง รวมถึงถอดก้านคลัตช์ออก (ใช้ระบบควบคุมคลัตช์ไฟฟ้า) และอาจใส่เป็นก้านเบรกแทนหรือไม่ใส่ก็ได้
เพื่อที่จะเติมเต็มประสบการณ์ในการขับขี่แบบสปอร์ตมากยิ่งขึ้น และไม่ต้องตบเท้างัดเกียร์ให้ลำบากอีกต่อไป ทางค่ายจึงได้พัฒนาระบบชุดเกียร์แมนนวล (MT) แบบใหม่ คันเกียร์ที่ถูกออกแบบใหม่และติดตั้งบริเวณประกับฝั่งซ้าย ซึ่งมีส่วนประกอบไปด้วย คันเกียร์ (+) และคันเกียร์ (-) โดยสามารถปรับเกียร์ขึ้นและลงผ่านปลายนิ้วสัมผัส (นิ้วชี้และนิ้วโป้งมือซ้าย) ถ้าหากจะปรับเกียร์ขึ้นเพียงใช้นิ้วกดไปที่ปุ่ม (+) ส่วนปรับลดเกียร์ลงก็แค่ใช้นิ้วโป้งกด (-) ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น ซึ่งมันมีข้อดีตรงที่ผู้ขับขี่จะได้มีเวลาโฟกัสกับการขับขี่มากยิ่งขึ้น และไม่ต้องขยับขาให้เมื่อยอีกด้วย
หากจะเปลี่ยนมาใช้เกียร์ออโตเมติก ให้กดปุ่มที่บริเวณประกับฝั่งขวา โดยสามารถเลือกได้อีก 2 โหมดคือ โหมด D โหมดเน้นความนุ่มนวล หรือ โหมด D+ เพิ่มรอบสูงขึ้นในจังหวะขับขี่เร่งแซง มีให้เลือกตามการใช้งาน โดยชุดอุปกรณ์นี้จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2.8 กก. เท่านั้น
ด้วยนวัตกรรมใหม่ที่ทางค่ายได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น จะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถตัดสินใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และโฟกัสกับการขับขี่ได้มากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะยกระดับการขับขี่ให้สนุกไปอีกขั้น และเชื่อว่าทางค่ายอาจนำเจ้าเทคโนโลยีรุ่นนี้มาใช้กับกลุ่มรถสปอร์ตไบค์คลาสกลาง ถ้าหากให้เดาจริง ๆ ส่วนตัวคาดว่าคงเป็นรถแนวสปอร์ต พวก R-Series ที่ใช้บล็อกเครื่องครอสเพลน CP2 CP3 หรืออาจจะเป็นโฉมรุ่นใหม่ ๆ จากทางค่ายก็เป็นได้ ยังไงก็มาลุ้นกัน
รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก