ยางสนาม ไม่ควรขี่ถนน จริงหรือ?
ดราม่าประเด็นร้อน จากร้านขายยางมอเตอร์ไซค์ ร้านดังโซนอยุธยา-วังน้อย ได้แชร์ข้อมูลเรื่องยางโดยได้ลงเขียนในโพสว่า…..
ข้อความแนวกระแทกแรงๆจากเพจ กระทบจิตใจคนใช้และคนขายยางสนามมือ 2 ไม่มากก็น้อย และคอมเมนต์ก็แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ซึ่งส่วนมากจะไม่เห็นด้วยกับโพสของทางร้าน และมีคนกลุ่มน้อย ที่เห็นว่า ยางสนามควรใช้ในสนามจริงๆ
คำถาม…แล้วยางสนามควรใช้แค่สนามเท่านั้นหรอ?
คำตอบ…ใช่ แต่ ไม่เชิง
บทความนี้จะอ้างอิงข้อมูลยางแข่ง และ ยางถนน สำหรับมอเตอร์ไซค์ จาก Pirelli ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ยางมอเตอร์ไชค์ที่มียางให้เลือกตั้งแต่แข่งสนามแข่ง 100% ลงมาถึงรถแม่บ้านจ่ายตลาด
ขยายข้อข้องใจเรื่องยางแข่ง
ใช่…ยางแข่งผลิตออกมาเพื่อแข่งขัน โดยที่ยางสลิคของทุกยี่ห้อจะมีตัวอักษร NHS ซึ่งย่อมาจาก NOT FOR HIGHWAY SERVICE แปลเป็นไทยได้ประมาณว่า ไม่ใช่ยางสำหรับใช้งานบนทางหลวง ถ้าแปลเป็นภาษาไทยอีกทีคือ “ใช้งานบนถนนไม่ได้”
หรือในยาง Pirelli จะเขียนว่า For Competition Only หรือ สำหรับแข่งขันเท่านั้น
ซึ่งข้อจำกัดของการใช้งานยางแข่งมีมากกว่ายางสำหรับขับขี่ถนน โดยจะแบ่งเป็นปัจจัยหลักๆ 4 ข้อดังนี้
1.โครงสร้าง
โครงสร้างของยางแข่งกับยางถนนนั้นต่างกันสิ้นเชิง เพราะด้วยการใช้งานบนความเร็วสูงในโค้งเป็นส่วนมาก การให้ตัวก็ต้องมากกว่ายางถนนปกติ อีกทั้งเรื่องของการเก็บความร้อน ให้ยางไม่เสียความร้อนขณะแข่ง
ซึ่งโครงสร้างของยางสนาม จะถูกลดทอนชั้นกันรั่ว กันกระแทก หรือเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นในการแข่งขันออกไป และใช้วัสดุโครงสร้าง ที่ เบา บาง อายุการใช้งานที่ “พอดี” สำหรับ 1 การแข่งขัน หรือระยะทาง ประมาณ 150 กิโลเมตร เพราะถ้าระยะทางเกินกว่านั้นก็จะเป็นการแข่ง Endurance ซึ่งก็จะมีเวลาให้เข้า Pitstop เพื่อเปลี่ยนยางอยู่ดี
2.ลมยาง
ลมยางและอุณหภูมิ คืออีกปัจจัยสำคัญ ยางสนามต้องปรับลมยางให้เหมาะสม ถ้าอ้างอิงจาก Pirelli คือ ยางหน้าหน้า 30 psi / หลัง 24 psi ขณะยางเย็น และต้องใช้เครื่องวอร์มยางเซ็ตอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 80c ระยะเวลา ไม่ต่ำกว่า 50 นาที
ก่อนแข่งขันทุกครั้งต้องควบคุมให้ลมยางและอุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของยาง เพราะถ้าลมยาง หรืออุณหภูมิไม่ถูกต้อง ยางจะเกิด “อาการ” ผิดปกติ และอาจจะส่งนักแข่งบินคว้าอากาศ หรือแวะเช็คอินที่กองกรวดได้
เทียบกับยางถนน ที่เติมลมยางหน้า 36psi หลัง 42psi ทุกสภาวะ ไม่ต้องห่มผ้าวอร์มยาง สตาร์ทรถแล้วขี่ได้เลย มันง่ายกับคนใช้งาน ไม่ต้องมาปวดหัวหรือเสียเวลา อีกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ที่น้ำมันหมดถังแล้วเปลี่ยนยางคู่ใหม่ มันเปลืองแบบไร้สาเหตุ
3.ลายยาง และ มาตรฐาน DOT
ยางสลิคไม่ถูกกฎหมายสากล (แต่บ้านเราก็ยกข้อนี้ไป) กฎหมายสากลระบุไว้ว่า ยางต้องมีอัตราส่วนดอกยาง ไม่ต่ำกว่า 4% ถ้าอยากผ่านกฎหมาย และจะได้มาฐาน DOT มา ไว้ที่แก้มยาง
จริงๆแล้วยางสลิคไม่จำเป็นต้องถูกกฎหมายก็ได้ เพราะใช้ในพื้นที่ปิด และแข่งบนสนามที่แห้งเท่านั้น ถ้าฝนตกก็มียาง Intermediate หรือ Rain รองรับอยู่ดี ขอแค่ขี่จบปลอดภัยยางไม่แหกถือว่าพอ แต่ยางถนนต้องเจอสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกระทันหันระหว่างขับขี่แบบที่เลี่ยงไม่ได้ จึงเห็นได้ว่า ยางทัวริ่ง จะมีอัตราส่วนดอกยางที่มากกว่ายางสปอร์ต เพราะถึงเจอฝนก็ขี่ ในขณะที่ยางสปอร์ตอาจจะขี่เบาๆ หรือจอดแทน
เหตุผลเดียวกัน คงจะไม่มีมีใครขี่ยางสลิคลุยฝน หรือใช้ยางสลิคแล้วเจอฝนตกแวะเข้าร้านยางเปลี่ยนยางฝนแล้วออกมาขี่ต่อ…ใช่ม่ะ
4.เนื้อยาง
ยางสลิคจะมีคอมปาวด์ต่างๆให้เลือก ตั้งแต่ โคตรนิ่ม ยันแข็ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการแข่งขัน ความหยาบของผิวสนาม อุณหภูมิ และ ความชื้น
อ้างอิงจาก Diablo Superbike อีกแหละ หรือรู้จักกันในนาม ยาง เอสซี
ที่คำว่า SC มาจาก Special Compound แปลว่า “เนื้อยางพิเศษ”
ซึ่งยางหน้า 3 เนื้อยางคือ SC1 SC2 SC3
และยางหลังอีก 6 เนื้อยาง คือ SCQ SCX SC0 SC1 SC2 SC3
ก็ต้องมาเลือกเนื้อยางใหม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมการแข่งขันนั้นๆไม่ใช่ SC เดียว แข่งทั่วโลก ถ้าให้เอาตามความถูกต้องแบบสุดโต่งตามคำแนะนำของผู้ผลิตยาง แต่ใช้ถนน หมายความว่า…
จะออกจากบ้านแต่ละครั้ง ต้องมียางอยู่ที่บ้านครบทุก SC และต้องวางแผนว่า ถนนที่จะไปขี่ หยาบ หรือ เรียบ จะได้เลือกใส่ยางถูก คงไม่มีใครทำแบบนั้นจริงมั้ย?
5.สายจอด
อันตรายที่สุดสำหรับยางสเปคสนาม เพราะโครงสร้างที่บาง และไม่ได้ออกแบบมาให้จอด อาการ Flat Spot หรือ รอยกดทับ จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ยิ่งจอดนาน ยิ่งอันตราย เพราะส่วนมากแล้ว รถหล่อๆ ที่ใส่ยางสลิคจอดกันดีหน่อยจะขึ้นแค่สแตนหลัง ล้อหน้าติดพื้น ขี่ๆไปยางหน้าลวดทะลุ ก็ไม่น่าแปลกใจ แต่ที่แปลกใจคือคนส่วนมาก ไม่รู้ว่าถ้าจะจอดยาวๆ ต้องขึ้นสแตนหน้าและหลัง ไม่ใช้แค่หลังอย่างเดียว
ตรงๆนะ ยางสนาม ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจอดอยู่แล้ว มันผลิตขึ้นมาเพื่อขี่ๆ แข่งๆๆ หมดก็ทิ้ง แค่เอามาใส่จอดก็ผิดสเปคแล้ว
6.ฮีทไซเคิล
ฮีทไซเคิล (Heat Cycle ตีความได้ว่า จำนวนรอบที่ถูกใช้งาน) ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลกับอายุยางโดยตรง 1 ฮีท คือ ยางร้อนแล้วเย็น นับเป็น 1 รอบ ใช้จริงๆ ประมาณ 10 ฮีทก็ทิ้ง หรือเปลี่ยนคู่ใหม่ เพราะว่ายางมันไม่เกาะเหมือนตอนแรก หรือถ้าอยากรักษา Heatcycle ให้ลดลงน้อยที่สุด ขี่เข้า พิทเลนแล้วต้องเอาผ้าห่มยางมาครอบแล้วตั้งอุณหภูมิให้ร้อนทันที!
ยางสนามทุกเส้นจะมีฮีทไซเคิลน้อยกว่ายางถนนหลายเท่า และยางสนามร็อนเร็วว่ายางถนน เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ยางหมดอายุเร็วทั้งๆที่ใช้ได้ไม่นาน
สมมุดิว่า ขี่จากบ้านไปที่ทำงานแบบทางโล่งๆ ไม่จอด ไม่ติดไฟแดง ยางร้อน 1 รอบ เท่ากับ 1 ฮีท
ขี่จากที่ทำงานกลับบ้าน เหมือนเดิม ไม่มีใครขวาง อีก 1 ฮีท สรุป 1 วัน ใช้ไป 2 ฮีท
ถ้าสมมุติว่ายางสลิคมี 10 ฮีท
เท่ากับว่า ใช้ยางขี่ได้ 5 วัน ทิ้ง….เปลืองมั้ย?
xx.ข้อมูลเพิ่มเติม
ขอยกข้อมูลจากเปรียบเทียบกับยางมีดอกรุ่นฮิต ลาย “สายฟ้า” ของ Pirelli
Diablo Supercorsa V4 ซึ่งรุ่นนี้จะแบ่งแยกย่อยเป็น 2 สเปค คือสเปค SC ที่มีเนื้อยางให้เลือกเหมือนสลิค ส่วน SP ย่อมาจาก Sport Production ที่เป็นยางหน้า และหลัง แบบ 2 คอมปาวน์ 3 โซน โดยเอาเนื้อยางสนามไว้ข้างๆแทน
สองรุ่นนี้ลายยางไม่ต่างกัน แต่ โครงสร้าง คนละเรื่อง SC คือยางสลิคมีดอก คงจะสู้กับถนนไทยได้ไม่นานนัก กับอีกอัน ที่โครงสร้างเป็นยางถนน ก็ปลอดภัยกว่า และในยางที่เป็นประเด็นในคอมเมนต์โพสของร้าน คือ Diablo Rosso Scooter SC จริงๆแล้ว มันคือยางโครงสร้างถนน ที่มีเนื้อยาง SC2 ตามชื่อ DIABLO ROSSO SCOOTER SC นั้นเองงงงงงง
สรุป
การใช้ยางสนามบนถนน ไม่ผิด แต่ต้องพิจารณาข้อมูลหลายด้าน ใช้ยางสลิค หรือสลิคมีดอก ขี่ถนน ก็ต้องขี่ให้โหดเหมือนขี่สนาม เพราะมันต้องการความร้อนในการทำงาน และใช้งานแค่ระยาทางสั้นๆ 1 ทริป ทิ้ง ประมาณนั้น
แน่นอนว่ายางสนามกินขาดเรื่องประสิทธิภาพ และการยึดเกาะ…แต่มันจะดีกว่ามั้ยที่จะหันมาใช้ยางแบบถูกประเภทตั้งแต่แรก จะได้ไม่ปวดหัว เรื่องอายุการใช้งาน การเซ็ตลม บลาๆ ข้อจำกัดเยอะมาก
ส่วนคนที่ยังใช้อยู่ไม่เคยมีปัญหาก็ยินดีด้วย คุณคือผู้โชคดี ส่วนอันตัวกระผม ขอแนะนำว่า ขี่สนามใช้ยางสนาม ขี่เสร็จถอด สลับเป็นยางถนน จะไปสนามก็ใส่อีกรอบ เพราะงบน้อย ยางเริ่มตื้น ก็ทิ้ง ไม่ก็ขายต่อมือสอง ให้เป็นภาระของคนอื่นแทน 555
บทความนี้ไม่ขอชี้เป้าไปที่ยางมือสอง ว่าดีไม่ดี คนซื้อ คนขาย เขารู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร
อ้อ แล้วอีกอย่าง ยางสนาม ไม่มีการรับประกันใดๆ ใช้ขับขี่กันบนความเสี่ยงของตัวเองนะ
เพราะฉะนั้นเลือกให้ถูก
Choose your weapon
สวัสดี
รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก