รีวิว Diablo Rosso IV Corsa ยางหนึบสุดขอบนรกจาก Pirelli
ล่าสุดทางเรา SuperBike Thailand ได้มีโอกาสเดินทางไปทดสอบ รีวิว Diablo Rosso IV Corsa ยางไฮเปอร์สปอร์ตตัวใหม่ และยังได้มีโอกาสร่วมฉลองครบรอบ 150 ปี ของ Pirelli กันถึงที่ Mugello ประเทศอิตาลีกันเลยทีเดียวครับ
หลังจากลงเครื่องที่สนามบิน Mugello พวกเราก็มุ่งตรงต่อไปที่สถานที่จัดงานเปิดตัวยางรุ่นใหม่นี้ในคฤหาสน์สไตล์ยุโรปซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการขนาดย่อมเล่าเรื่องราวความเป็นมาตลอด 150 ปีของ Pirelli ไว้ภายในอีกด้วย
ใหม่ยังไง
ไม่นานผมก็ได้เข้าฟังการพรีเซนเทชันนำเสนอข้อมูลของตัวยาง แบบสั้นกระชับเข้าเรื่องรวดเร็ว และพอสรุปใจความสั้น ๆ ได้ว่า ยางปีศาจตัวใหม่คันนี้คือการนำ Rosso IV มาปรับเสริมเติมแต่งให้เหมาะกับการขับขี่สไตล์สปอร์ตมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเหมาะกับทางแห้งมากกว่าเดิม ซึ่งสามารถใช้ยางตัวนี้ตัวเดียวขับขี่ได้ทั้งบนถนนและในสนามแข่งได้สบาย ๆ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงมีคำว่า Corsa ที่เป็นภาษาอิตาลีแปลเป็นไทยว่า การแข่งขัน มาต่อท้ายชื่อ
โดยจุดที่เปลี่ยนแปลงไปจากยางรอสโซ่โฟร์นั้นหลัก ๆ จะมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ เรื่องของลายดอกยางและคอมปาวด์ยางหรือเนื้อยางนั่นเอง
เรื่องของลายดอกยางนั้นหากสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีลายดอกยางที่บริเวณไหล่ยางน้อยลง หากพูดเป็นตัวเลขคือ มีดอกยางน้อยลง 2% เหลือเพียง 8% เมื่อเทียบกับพื้นที่ของหน้ายางทั้งหมด นั่นหมายความว่าตัวยางใหม่นี้จะมีหน้าสัมผัสกับพื้นถนนได้มากขึ้น ทำให้ยางมีการยึดเกาะหรือหนึบมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังแตกต่างกันที่ลายยางตรงกลางอีกด้วย
ในส่วนของคอมปาวด์ยางหรือเนื้อยางนั้นก็จะแตกต่างออกไปเช่นกัน โดยยางหน้าจะเป็นแบบดูอัลคอมปาวด์หรือยางสองคอมปาวด์ โดยคอมปาวด์ยางตรงกลางนั้นจะเป็นฟูลซิลิก้า (Full Silica) (ซึ่งตรงส่วนกลางนี้จะกินพื้นที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของหน้ายาง) มีเนื้อแข็งกว่าคอมปาวด์ยางด้านข้างทั้งสองข้าง ช่วยให้ใช้งานได้นาน แต่ก็มีความหนึบและความเสถียรที่ดีเมื่อขับขี่ที่ความเร็วสูง ขณะที่เนื้อยางด้านข้างจะเป็นฟูลซิลิก้าเช่นกันแต่จะนุ่มกว่าตรงกลาง และเนื้อยางตรงนี้ยังนุ่มกว่ารอสโซ่โฟร์อีกด้วย ซึ่งก็จะช่วยให้ยางร้อนได้ไว รักษาไลน์ได้ดี และเข้าโค้งได้ดีขึ้น
ขณะที่ยางหลังจะเป็นยางดูอัลคอมปาวด์หรือยางสองคอมปาวด์เช่นกัน โดยคอมปาวด์ยางตรงกลาง (ซึ่งตรงส่วนกลางนี้จะกินพื้นที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของหน้ายาง) เป็นฟูลซิลิก้าผสมกับเรซิ่นจุดหลอมเหลวสูงเนื้อนุ่มปานกลางช่วยให้ยางร้อนได้ไวในทุกสภาพอากาศ ขณะที่คอมปาวด์ยางด้านข้างที่เหลือจะเป็นคอมปาวด์ SC3 ที่คอมปาวด์จากยางแข่ง เป็นฟูลคาร์บอนแบล็กที่ไม่เพียงแต่หนึบเวลาเข้าโค้งยังช่วยให้สามารถเปิดคันเร่งออกจากโค้งได้อย่างเต็มที่
นอกจากในยางหลังนี้ยังจะมีการเสริมชั้นยางพิเศษด้านล่างเข้าไปซึ่งเจ้าชั้นยางพิเศษนี้มีชื่อเรียกว่า Adaptive Base Compound ที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของทาง Pirelli เป็นเนื้อคาร์บอนแบล็กสูตรพิเศษ เมื่ออุณหภูมิต่ำตัวยางชั้นนี้จะทำให้เนื้่อยางด้านบนคงความนุ่มได้ และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นก็จะนุ่มมากขึ้น ง่าย ๆ คือจะช่วยเพิ่มความเสถียรในทุกช่วงอุณหภูมิยางและเพิ่มฟีลลิ่งหรือช่วยให้จับอาการของยางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ซึ่งทางแบรนด์สรุปโดยรวม ๆ แล้วยางใหม่ตัวนี้จะดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เมื่อทดสอบขับขี่ในสนาม จากสนามทดสอบที่ PERGUSA Proving ground ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ องศาการเข้าโค้งทำได้มากขึ้น 2% เร่งได้แรงและเร็วขึ้นจนสร้างแรงจีฟอร์ซได้มากขึ้น 6% เปิดคันเร่งเต็มที่ออกจากโค้งได้มากขึ้น 5% ผลคือเวลาแล็ปดีขึ้น 1.8 วินาที
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ทางแบรนด์ยางอิตาลีนำเสนอ โดยเราจะได้ไปทดลองทดสอบกันจริง ๆ ทั้งแบบขี่ถนนและในสนามในรุ่งขึ้นของอีกวันครับ
ทดสอบถนนจริง
วันรุ่งขึ้นจะมีขับขี่ด้วยกัน 2 รูปแบบคือ ช่วงแรกจะเป็นขับขี่บนถนนจริง เป็นเส้นทางขึ้น-ลงเขาที่เต็มไปด้วยโค้งหลากหลายรูปแบบกินระยะทางร่วม 75 กม.กับทางโค้งซ้ายขวากว่า 140 โค้ง จนผมคิดว่ากะจะให้เมาโค้งกันเลยใช่มั้ยเนี่ย และช่วงที่สองก็คือเข้าไปทดสอบหวดรถกันในสนามระดับโลกอย่าง Circuito Del Mugello กันเลยครับ ซึ่งก็น่าจะตั้งใจให้เราได้ทดสอบรีวิวกันแบบครบถ้วนกันเลย
เมื่อถึงเวลาการทดสอบบนถนน แม้ว่าอาจจะทำความเร็วได้ไม่มากนัก เพราะบ้านเขาถนนวิ่งด้านขวา เลยมีความงงเล็กน้อย + กับอากาศเย็น ๆ ประมาณ 15 องศา รถที่เลือกขับขี่ทดสอบบนถนนนั้น แน่นอนผมมาถึงอิตาลีถิ่นกำเนิดของแบรนด์ดัง ๆ อย่าง Ducati และ Aprilia ดังนั้นผมก็เลยเลือกที่จะทดสอบกับรถที่ไม่มีจำหน่ายในไทยอย่าง Energica EGO Tricolorle สเปกพิเศษแทน (แล้วจะเกริ่นมาถึงรถอิตาลีแบรนด์อื่นทำไมฟะ) ซึ่งเจ้าคันที่ผมเลือกนั้นมันคือที่สุดของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ยัดของแต่งมาแน่น แบบแทบจะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มก็หล่อลงตัว
เหตุผลที่เลือกคันนี้ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเป็นของแปลก แต่ที่เรารู้ ๆ กันว่ามันคือรถไฟฟ้ามีขุมพลังเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีจุดเด่นคือมีแรงบิดมหาศาล และมีแรงบิดที่แบบมาทันทีไม่ต้องรอรอบเหมือนรถน้ำมัน และอีกโจทย์สำคัญคือ น้ำหนักตัวรถที่มากถึง 260 กิโลกรัม หนักกว่ารถที่มีพิกัดกำลังใกล้เคียงกันอยู่เกินกว่า 50 โล ซึงถ้าหากยางรับไม่ได้ เปิดหนักต้องปลิ้น ดิ้นดุ๊กดิ๊ก หรือยางไม่กลม โค้งต่อเนื่องไม่ดี และต้องหนืดอย่างแน่นอน เรียกว่าเป็นตัวทดสอบยางที่ดีเลยล่ะครับ โดยยางที่ใส่กับคันนี้จะเป็นยางหน้าขนาด 120/70 ZR17 และหลังขนาด 180/55 ZR17 ซึ่งจะเป็นไซส์สำหรับรถพิกัดประมาณ 650-900 ซีซีในเมืองไทย
โดยครั้งนี้ผมมีโจทย์การขับขี่ทดสอบของตัวเองมาว่าขี่แบบปกติไม่เน้นเข่าเช็ดพื้น แต่ลงให้หมดขอบหรือใช้หน้ายางให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ครับ จากการทดสอบพบว่า ช่วงแรกตอนยางเย็น บวกกับรถที่หนัก (ทั้งทอร์คและน้ำหนัก) ก็จะมีอาการอยู่บ้างเวลาที่เข้าโค้ง และเปิดคันเร่งหนัก ๆ ตอนออกโค้ง มีแถเล็กน้อย เฉพาะในโค้งนะ แต่ทางตรงเปิดเติมล้อลอยก็ไม่มีอาการอะไร พอขับไปได้อีกซักพักประมาณ 15 นาที ก็สามารถเปิดคันเร่งหนักได้สบาย ท้ายนิ่ง ๆ ไม่มีอาการอะไร
ส่วนเรื่องน้ำหนักตัวรถ บอกเลยว่า ไม่มีผล ไม่ได้อุ้ยอ้ายอย่างที่คิด กลับเป็นว่ารถเลี้ยวง่าย คม แม่นยำ เหมือนขี่รถสปอร์ตไซส์กลาง ๆ กับยางซิ่ง ๆ คู่นึง หลังจากที่ขี่จบ ลองจับยางดู ก็รู้สึกว่าอุ่น ๆ แต่อย่าลืมว่าที่นี่อิตาลี! อากาศเย็น 15 องศา ต่างจากที่ไทยที่ปัจจุบันทะลุ 40 องศาแล้ว บอกเลยว่าถ้ามาหวดที่ไทยรับรองขี่พลิ้ว ๆ แน่นอน
ทดสอบสนาม
จบทริปถนน 75 โล ก็วนเข้า Circuito Del Mugello ซึ่งสนามนี้ไลน์ขี่ต้องใจถึง เพราะแทบทุกโค้งเป็นความเร็วสูงทั้งหมด และเราก็จะได้ทดสอบยางบริเวณไหล่ยางหรือด้านข้างได้แบบจริง ๆ จัง ๆ ให้รู้กันไปเลยว่าสมราคาคุยมั้ย
จากการทดสอบขับขี่ในสนามผมว่าความเร็วในโค้งความเร็วสูงกว่า 150 กม./ชม.ก็ยังทำได้แน่นหนึบ ตัวยางให้ตอบสนองได้ดี ให้ฟีลลิ่งสัมผัสต่าง ๆ ได้แม่นยำ รับรู้ได้ชัดเจนว่าแทร็กเป็นอย่างไร พื้นหยาบหรือละเอียด ประมาณว่า มันถ่ายทอดแรงสั่นสะเทือนมาที่เราได้ชัดเจน ช่วยให้เรารู้อาการของรถ ลักษณะของแทร็กได้ดี และนั่นทำให้เรารู้ได้ว่าควรเปิดหรือปิดคันเร่งอีกด้วย ถือเป็นข้อดีมาก ๆ เลย มันทำให้เราควบคุมรถได้ดีมาก ๆ ครับ
ลงจากรถมา สังเกตเนื้อยาง พบว่าละลายเป็นก้อนกลม ๆ สวย ๆ หน้ายางไม่เละ ลองเอามือแตะดูพบยางร้อนจี๋! เหมือนใส่ผ้าวอร์มยาง แสดงให้เห็นว่ายางนั้นวอร์มได้ดีจริง ๆ แม้ว่าอากาศจะเย็นก็ตาม และเมื่อสังเกตคันอื่น ๆ ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ก็แอบไปสอบถามฝ่ายเทคนิคของทาง Pirelli แต่ละคันเติมลมยางเท่าไหร่ พอได้ยินคำตอบผมก็ถึงกับอึ้งไปเลยว่า เขาเติมยางหน้าและหลังเท่ากันที่ 2.5 บาร์หรือประมาณ 36 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ซึ่งปกติแล้วเวลาขี่สนามจะใช้ลมน้อยกว่านี้เยอะมาก โดยยางหน้าจะเติมลมที่ 29 – 32 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และยางหลังเติมที่ 24 – 26 ปอนด์ต่อตารางนิ้วซึ่งจะช่วยให้ยางอ่อนและมีหน้าสัมผัสมากขึ้น แต่ไม่น่าเชื่อว่าเติมเยอะมากขนาดนี้ อีกทั้งอากาศก็เย็น แต่กลับขี่ได้ดีซะอย่างนั้น
สรุป
สรุปง่ายๆ สำหรับการ รีวิว Diablo Rosso IV Corsa ยางตัวนี้นั้นจะเหมาะกับคนที่ชอบขับขี่แนวสปอร์ต ชอบความเร็ว ชอบขับขี่เล่นโค้ง รวมไปถึงชอบขับขี่ในสนามอย่างยิ่ง ด้วยเนื้อยางที่ออกแบบมามีการยึดเกาะที่ดีจากการมีลายดอกยางที่น้อยลง บวกกับการออกแบบคอมปาวด์ยางที่เอื้อให้มีการยึดเกาะในโค้งได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
จุดเด่นของยางตัวนี้ก็คือ ถนนก็ได้ สนามก็ดี ยางให้การตอบสนองที่ดีและให้การยึดเกาะที่ดีแม้ว่าอากาศจะเย็น อย่างไรก็ตามจุดด้อยก็เห็นจะเป็นเรื่องของอายุการใช้งานจากการมีเนื้อยางด้านข้างหรือบริเวณไหล่ยางที่นุ่มมาก และความสามารถในการรีดน้ำออกจากหน้ายางอันเนื่องมาจากดอกยางที่น้อยลงนั่นเอง ซึ่งตรงนี้จะไม่เป็นหาสำหรับคนที่ชอบขับขี่ในสนามหรือขับรถในวันแทร็กเดย์ เพราะฝนตกก็จอดไม่ลงไปขับขี่ในสนามอยู่แล้ว หรือก็ไม่ได้ขับขี่กันรวดเร็วอยู่แล้ว
ดังนั้นหากว่าเน้นใช้งานถนนทั่วไปตัวรอสโซ่โฟว์จะเหมาะกว่า ในขณะที่ถ้าเน้นสมรรถนะมาก ๆ และเน้นขับขี่ในสนามด้วยล่ะก็ตัวนี้ก็จะตอบโจทย์ได้มากกว่าครับ
สุดท้ายนี้ถ้าจะซื้อมาทดลองใช้ล่ะก็ลองติดต่อสอบถามราคากับ www.pirelli.in.th หรือ เพจ Pirelli moto ได้เลยครับ