น้ำมันเครื่อง เลือกยังไงให้เหมาะกับรถคุณ?

Admin Superbike

น้ำมันเครื่อง เลือกยังไงให้เหมาะกับรถคุณ?

น้ำมันเครื่อง

โลกแห่ง น้ำมันเครื่อง เต็มไปด้วยตัวอักษร ตัวเลข และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่อาจจะทำให้นักบิดหน้าใหม่หลายคนต้องปวดหัว เวลาที่จะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เว้นแต่ว่าคุณจะคิดง่าย ๆ แค่ไปให้ช่างที่ศูนย์บริการเปลี่ยนให้ แต่เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าน้ำมันเครื่องที่ศูนย์หรือร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนให้มันดีกับรถของคุณหรือเปล่า?

เมื่อถึงเวลาที่คุณจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถของคุณ สิ่งแรกที่หลาย ๆ คนจะทำกันคือเปิดดูคู่มือหรือแมนวลรถของคุณและดูว่าทางโรงงานแนะนำอย่างไร บางทีวิธีที่ง่ายคือการทำตามคู่มือแนะนำ แต่บางทีการทดลองอะไรใหม่ ๆ ก็อาจจะดีขึ้น ทว่าหากคุณใช้น้ำมันเครื่องที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้รถคุณมีปัญหา หรือขั้นร้ายแรงคือเครื่องพังไปเลยก็เป็นได้ครับ ดังนั้นจงระวังไว้ให้ดี!

ขั้นตอนการผลิตน้ำมันเครื่องนั้นเป็นอะไรที่กินเวลาและยุ่งยากซ้ำซ้อน และมันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาน้ำมันเครื่องเพื่อให้เหมาะกับรถแต่ละประเภท ทั้งรถรุ่นใหม่ ตลอดไปจนถึงรถรุ่นเก่า ๆ อีกด้วย 

แน่นอนว่าการผลิตน้ำมันเครื่องแต่ละสูตรก็จะต้องใช้ส่วนประกอบต่าง ๆ กันออกไป แต่จะต้องมีส่วนผสมหลักเป็นออยเบสไว้ก่อน ก่อนที่จะเติมสารประกอบโพลีเมอร์ลงไปตามแต่ละสูตรซึ่งหลากหลายมาก ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มสมรรถนะและช่วยลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ ป้องกันการแข็งตัว และสารทำความสะอาดอื่น ๆ 

โดยน้ำมันเครื่องหลัก ๆ แล้วจะมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ น้ำมันเครื่องทั่วไป (Mineral Oil) ต่อมาคือน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Synthetic Oil หรือ Fully Synthetic Oil) และน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic Oil) ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างกัน

น้ำมันเครื่องทั่วไป หรือน้ำมันเครื่องเกรดธรรมดานี้ ได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ ผสมกับสารเติมแต่งจำนวนนึง คุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ ข้อดีคือราคาถูก 

น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (บางทีก็มีคำว่าแท้หรือ 100% ตามมาด้วย) เป็นน้ำมันเครื่องที่เกิดจากการสังเคราะห์ผ่านกระบวนการเคมีและผสมสารเติมแต่งเข้าไป ทำให้ได้น้ำมันคุณภาพสูงที่สุดใน 3 ประเภทนี้ แต่ข้อเสียคือราคาแพง

น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ อันนี้เป็นการน้ำเอาน้ำมันเครื่องธรรมดาผสมเข้ากับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์และสารเติมแต่ง เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ดีขึ้นกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดา แต่ราคาไม่แพงเท่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์

ทั้งนี้มอเตอร์ไซค์นั้นต้องการอะไรที่จำเพาะเจาะจงค่อนข้างมาก ซึ่งจะแตกต่างไปจากรถยนต์ ซึ่งนั่นทำให้มันมีความยุ่งยากมากขึ้นเวลาเลือกน้ำมันเครื่อง เช่น มอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ใช้ระบบคลัตช์เปียกซึ่งก็จะต้องใช้น้ำมันเครื่องสูตรเฉพาะสูตรนึง เพื่อป้องกันคลัตช์ลื่น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยป้องกันการสึกหรอของชุดเกียร์ด้วย 

หรือรถที่มีสมรรถนะสูง ๆ มีรอบเครื่องยนต์สูง ๆ เกิน 12,000 รอบ ทำให้น้ำมันเครื่องต้องรับภาระหนัก ต้องเจออุณหภูมิสูง ๆ น้ำมันเครื่องก็ต้องใช้อีกเกรดนึงที่เป็นสมรรนะสูง ๆ ตามตัวรถไปด้วย หรือกรณีที่คุณขี่สกูตเตอร์ น้ำมันเครื่องที่ใช้กับสกูตเตอร์ก็ต้องเป็นอีกแบบนึง 

หมดจากเรื่องประเภทน้ำมันเครื่องไป ยังมีเรื่องของเกรดน้ำมันเครื่อง ที่บ่งบอกถึงความหนืดและมาตรฐานต่าง ๆ ที่คุณต้องรู้อีกครับ

SAE นี่คือตัวบอกเกรดความหนืดของน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะบอกเป็น 2 ค่าด้วยกันสังเกตที่ขวดน้ำมัน กระป๋องหรือภาชนะที่ใส่น้ำมันจะมีระบุไว้เป็น ตัวเลขชุดแรกตามด้วยตัว W และตัวเลขอีก 1 ชุด ซึ่งตัวเลขข้างหน้าจะสื่อถึงความหนืดที่อุณหภูมิต่ำ และอีกชุดคือความหนืดที่อุณหภูมิสูง เช่น 5W30, 10W30 เป็นต้น

ตัวเลขชุดแรกยิ่งน้อยแสดงให้เห็นว่าคงความลื่นหรือใสได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ ช่วยให้สตาร์ทได้ง่าย (แต่บ้านเราอากาศร้อนไม่เหมือนประเทศในโซนอากาศหนาวที่ต้องคำนึงถึงค่านี้มากหน่อย บ้านเราจึงไม่ค่อยใส่ใจเลขชุดแรกมากนัก) ขณะที่ตัวเลขชุดหลังยิ่งเยอะแสดงว่าจะให้ความหนืดไว้ได้ดีแม้อุณหภูมิสูง ช่วยให้น้ำมันเครื่องไม่ใสหรือลื่นจนเกินไป ทำให้สามารถปกป้องเครื่องยนต์จากการสึกหรอได้ดี 

API

ย่อมาจาก American Petroleum Institute เป็นหน่วยงานทดสอบคุณภาพน้ำมันเครื่องในด้านต่าง ๆ  อารมณ์ประมาณว่าน้ำมันเครื่องตัวนี้ผ่านการทดสอบมอก.แล้วอะไรประมาณนั้น โดยก็จะมีหลายระดับเช่นกัน โดยจะเป็นตัวอักษร ขึ้นต้นด้วยตัว S (สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน) และตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษอีกหนึ่งตัว ไล่มาตั้งแต่ A, B, C ไปเรื่อย ๆ เช่น SN เป็นต้น 

แต่ในตอนนี้น้ำมันเครื่องส่วนใหญ่ควรจะเลือกที่มาตรฐาน SN ไปเลยจะดีกว่าครับ (เกรดต่ำกว่าที่คู่มือระบุอาจจะส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์ได้)

นอกจากนี้น้ำมันเครื่องบางยี่ห้ออาจจะไม่ได้เข้ารับการทดสอบ API ก็ได้ ดังนั้นอาจจะต้องดูมาตรฐานอื่นประกอบกัน 

JASO

ย่อมาจาก Japanese Automobile Standards Organization ซึ่งก็คือองค์กรมาตรฐานยานยนต์ญี่ปุ่น เป็นหน่วยที่ตั้งมาตรฐานน้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์ ซึ่งส่วนมากก็จะพบในน้ำมันเครื่องแบรนด์ญี่ปุ่นนั่นเอง ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ MA หรือ MA2 (มาตรฐานสูงขึ้นอีกระดับ) สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ระบบคลัตช์เปียก และ MB สำหรับสกูตเตอร์หรือออโตเมติกที่ใช้ระบบคลัตช์แห้ง 

นอกจากนี้สำหรับรถสองจังหวะก็จะเป็น FA, FB, FC และ FD ซึ่งจะมีคุณภาพจากต่ำสุดมายังสูงสุดตามลำดับ

 

สรุป

การเลือกน้ำมันเครื่องที่ดีอย่างน้อย ๆ ประเภท เกรดและมาตรฐานที่เลือกใช้ไม่ควรต่ำกว่าที่คู่มือแนะนำเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ครับ ส่วนจะใส่สูงกว่าสเปกที่ค่ายรถแนะนำมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเงินของคุณแล้วล่ะครับ และอย่าลืมเปลี่ยนตามระยะ หรือเปลี่ยนก่อนกำหนดหากว่ามีการขับขี่ลุยน้ำ หรืออาจจะมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ช่างแนะนำให้เปลี่ยนด้วยนะครับ

 

ที่สำคัญควรสั่งซื้อหรือซื้อน้ำมันเครื่องจากตัวแทนที่ไว้วางใจและน่าเชื่อถือเพราะน้ำมันเครื่องราคาสูง ๆ มักจะมีของปลอมขายอีกด้วย 

อ่านข่าวอื่นๆ คลิกที่นี่

รับชมวิดีโอการทดสอบรถต่างๆ ของเราคลิก

Next Post

KTM RC 390 2022 ปรับใหม่หมด เน้นไล่เบา อัปเกรดโช้คและเทคโนโลยี

KTM RC 390 2022 ปรับใหม่หมด เน้นไล่เบา อัปเกรดโช้ค […]

You May Like

Subscribe US Now

Exit mobile version